” Formless Borderless Limitless ยุคตลาดที่ ไร้รูปแบบ ไร้ขอบเขต ไร้ขีดจำกัด”
เป็นยุคที่กูรูการค้าเดิมต้องกุมขมับ เมื่อโลกหมุนเร็วเคลื่อนสู่ “4.0” ร่วมเปิดมุมมอง โมเดลธุรกิจรอด
สูตร..ไร้รูปแบบ (Formless) ไร้พรมแดน (Borderless) และไร้ขีดจำกัด (Limitless) ก่อนสายเกินแก้ !
10 ปีที่แล้วเมื่อพูดถึงโลกดิจิทัลยังมีหลายคนทำหน้างงๆ เพราะขณะนั้นมีเพียงแอพพลิเคชั่น เฟซบุ๊ค เริ่มเข้ามาทำตลาดในไทย ตามมาด้วยอินสตราแกรม ทว่า
ไล่หลัง 5 ปีต่อมา เห็นเทรนด์การเสพสื่อดั้งเดิมเบนเข็มสู่ “โซเซียลมิเดีย” ชัดเจนขึ้นมาก โดยมีมือถือสุดหล่อ “สมาร์ทโฟน” เริ่มเข้ามามีอิทธิพลกับชีวิตผู้คนมากขึ้นไปพร้อมกับของเล่นต่างๆที่มีมากขึ้น ทั้ง แอพพลิเคชั่นแชทโปรแกรม เสิรชเอ็นจิน อาทิ เฟซบุ๊ค ไลน์ วีแชท อินสตราแกรม กูเกิล ยูทูป ฯลฯ
จนถึงปัจจุบัน สมาร์ทโฟนกลายเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต ผู้คนต่างใช้สมาร์ทโฟนต่างระดับราคาเป็นแพลตฟอร์มในการเสพสื่อ
ในไม่ช้า สมาร์ทโฟนยังจะเป็นสิ่งพกพาแทนเงินสด (สังคมไร้เงินสด) เพราะธุรกรรมทางการเงินต่างๆสามารถทำผ่านสมาร์ทโฟน อย่างที่กำลังจะเกิดขึ้นประเทศแถบแกนดิเนเวีย เงินสดจะหายไปจากกลุ่มประเทศแถบนี้ 3-4 ประเทศ เริ่มต้นในประเทศสวีเดน ที่มีตั้งเป้าหมายเลิกใช้เงินสดภายในปี 2563
นั่นเป็นพฤติกรรม (ไลฟ์สไตล์) ของผู้คนที่หมุนตามเทคโนโลยีรอบตัวกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ทำให้ธุรกิจต้อง “ถอดรหัส” ค้าอย่างไรในโลกยุคดิจิทัล
“ธุรกิจจะต้องควานหาลูกค้า ต้องดักทางให้ถูกต้อง!”
คำเตือนให้คนทำธุรกิจต้องเปลี่ยนตัวเองหากต้องการอยู่รอด จากเวทีสัมมนา “New Economy Dialogue 2017”
ในหัวข้อ มองมุมใหม่ ปฏิวัติธุรกิจ แข่งขันยุค 4.0 จาก ชาคริต จันทร์รุ่งสกุล ผู้ก่อตั้ง FireOneOne และ Weecosystem Academy
ล่าสุดเขายังเป็นประธานเจ้าหน้าที่มบริหาร สิริ เวนเจอร์ บริษัทร่วมทุนระหว่างบมจ.แสนสิริ กับธนาคารไทยพาณิชย์ ในลักษณะ Corporate Venture Capital (กองทุนร่วมลงทุน) เพื่อวิจัยและลงทุน เพื่อสร้างนวัตกรรมด้าน Property Technology (เทคโนโลยีตอบโจทย์ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์)
เข้าไปลงทุนในสตาร์ทอัพพันธุ์ใหม่ที่มีแววไปไกลในแวดวงอสังหาฯ
ชาคริต เป็นอีกคนที่ทำนายไว้ก่อนหน้านี้ว่า ต่อไปธุรกิจมูลค่านับแสนล้านจะอยู่บนสมาร์ทโฟนที่เราใช้กันจนเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน
ธุรกิจจึงต้องคิดโมเดล“เชื่อมลูกค้า”ที่ย้ายรังไปสู่สมาร์ทโฟนให้ได้
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในไทย หากเดินไปยังร้านอาหารในไทย เฉพาะในภูเก็ต และเชียงใหม่ หน้าร้านจะมีป้ายพลาสติกตั้งโต๊ะ ชูสัญลักษณ์
“อาลีเพย์” และ “วีแชทเพย์” ระบบชำระเงินออนไลน์ที่กำลังฮอต นั่นเป็นบริการการชำระเงินนอกประเทศจีน ให้นักท่องเที่ยวจีนมาไทยแบบไม่ต้องพกเงินสด
แถมยังได้ส่วนลดค่าซื้อสินค้าและบริการ นี่คือตลาดใหม่ !!! ที่ลูกค้าไม่ต้องรอเพียงสแกนคิวอาร์โค้ด แล้วจ่ายเงินผ่านมือถือเป็นอันจบ ยังไม่รวมการเรียกรถแท็กซี่ผ่านอูเบอร์ หรือแกร็บ แท็กซี่ ที่เริ่มเพิ่มมากขึ้นไม่ต้องทอนเงินให้ยุ่งยาก ต่อไปแพลตฟอร์มการชำระเงินผ่านแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ จะเข้ามาแทนการชำระเงินเงินสดอย่างรวดเร็ว เร็วชนิดที่ตั้งตัวไม่ทัน เร็วกว่ายุคที่เปลี่ยนเงินสดมาใช้บัตรเคดิตที่ต้องใช้เวลาหลายสิบปี “ชาคริต” เชื่อเช่นนั้น
หากอยากให้เห็นภาพชัดเจน เขายังอธิบายโปรดักท์ใหม่จากค่าย “อเมซอน” ยักษ์ค้าปลีกออนไลน์สัญชาติอเมริกัน ที่แนะนำบริการค้าปลีกระบบใหม่ ลูกค้าที่เดินเข้าร้านอเมซอนผ่านด่านสแกนบาร์โค้ด เจ้าร้านนี้ก็จะรู้ทันทีว่า ลูกค้ารายนั้นมีวงเงินในบัตรเคดิตเท่าไหร่ จากนั้นทันทีที่ลูกค้าหยิบสินค้าจากเชลฟ์ใส่ในรถเข็น ระบบก็จะคิดคำนวณยอดเงินรวมทันที แบบไม่ต้องไปยืนต่อแถวเพื่อให้แคชเชียร์สแกนจ่ายเงินหน้าตู้แคชเชียร์อีกต่อไป ลดต้นทุนจ้างแคชเชียร และค่าบริหารจัดการอื่นๆ อีกจิปาถะ ข้อเสียมีอย่างเดียวคือ คนซื้ออาจจะหยิบเพลินแบบยอดเงินพุ่งไม่รู้ตัวเพราะไม่ได้พกเงินสด
อเมซอน เปิดบริการนี้ออกมา เพื่อพลิกโฉมวงการค้าปลีกเป็นดิจิทัลรีเทล ลูกค้ารายแรกๆ ก็คือห้างสรรพสินค้า ร้านค้าสะดวกซื้อ ลงทุนระบบเพียงครั้งเดียว ลดต้นทุนด้านแคชเชียร์ และอื่นๆได้มากมาย รูปแบบบริการทางการเงินไม่หยุดเพียงแค่นี้ ยังมีธุรกิจเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ เช่น โรงรับจำนำที่ไม่ต้องมีเงินทุน วางตัวเป็น“ตัวกลาง”เชื่อมคนมีเงิน กับเจ้าของสินค้าที่ร้อนเงิน เช่น กระเป๋าหลุยส์ รถคลาสสิค
ยกตัวอย่างหากเจ้าของกระเป๋าต้องการเงิน 1 แสนบาท แต่โรงรับจำนำตีราคา 8 หมื่นบาท เจ้าของโรงรับจำนำจะทำหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติและตีราคากระเป๋า ส่วนเงินจะมาจากผู้สนใจอยากได้กระเป๋าใบนั้น โดยได้กำไรจากการปล่อยเงินจำนำ10% โรงรับจำนำคิด 2% หากกระเป๋านี้หลุดจำนำ ผู้ที่มีสิทธิเป็นเจ้าของก่อนคือคนปล่อยเงิน เป็นต้น
ระบบนี้คือการระดมทุนผ่านมวลชน หรือ ‘Crowdfunding’ ไม่ต่างจากระบบแชร์ ที่ไม่ในไม่ช้าจะเกิดวงแชร์บนโลกดิจิทัล ความเสี่ยงน้อยลง เพราะมีระบบตรวจสอบ ใครเป็นจอมเบี้ยว ปิดจุดอ่อนวงแชร์ที่เล่นกัน แบบไม่ต้องเสียเวลาไปจับฉลากเปียแชร์ เจ้าของแพลตฟอร์มขอกำไรจากค่าดูแล 2%
นี่เป็นหนึ่งในอีกหลากหลายธุรกิจบริการการเงินที่จะเกิดขึ้นในโลกมากขึ้น แม้จะยังไม่เกิดขึ้นในไทยเพราะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังไม่อนุญาต แต่อนาคตมาแน่ “ที่ไม่เหมือนเดิมคือผู้ให้บริการเหล่านี้ไม่ต้องใช้เงินสดตัวเอง ใช้เงินคนอื่นระดมทุน นี่คือเศรษฐกิจใหม่ที่มาพร้อมเทคโนโลยี ที่ไม่จำเป็นต้องแพง ขอแค่เข้าใจ คนแรกที่ต้องเข้าใจคือลูกค้า ก่อนกระโดดเข้าไป จากนั้นเข้าใจเครื่องมือต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการมีมือถือไปเกี่ยวข้อง” ชาคริตย้ำว่า ต้องอ่านให้ขาดมือถือไปเกี่ยวข้องกับลูกค้าของเราในมุมไหน?
เขาเล่าเส้นทางการค้นพบการค้าใหม่ที่เกิดขึ้นจากการติดตาม“บล็อก”ของฝรั่งรายหนึ่งรีวิวบล็อกเกี่ยวกับน้ำปลา จัดลำดับคะแนนน้ำปลาจากทั่วโลกแล้วเรียงลำดับตามทั้งรสชาติ กลิ่นและความเค็ม มีทั้งแชมป์คือน้ำปลาจากเวียดนาม และรองลงมาคือไทยติดหนึ่งใน 10 แบรนด์ แต่สิ่งที่น่าแปลกใจคือ
น้ำปลาจากญี่ปุ่นติดหนึ่งใน 10
รีวิวจากบล็อกไปกระตุ้นต่อมอยากรู้บางอย่างของชาคริตให้ไปค้นหาน้ำปลา จากญี่ปุ่นชาติที่เราได้ยินความโด่งดังจากซอสโชยุ และซอสต่างๆที่กินกับปลาดิบ เท่านั้น ก่อนจะไปค้นพบว่าน้ำปลายี่ห้อนี้ขวดละพันกว่าบาท เพราะเป็นน้ำปลาพิเศษตรงที่หมักในถังวิสกี้ คนหมักขายเป็นผู้ประกอบการรายเล็กๆ อาชีพประมง หมักน้ำปลาเป็นแค่งานอดิเรกปีละแค่ 200 ขวดเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่โดนจนทำให้เขายอมควักเงินซื้อน้ำปลาเจ้าพิเศษนี้มาติดไว้ในครัว
สิ่งที่ชาคริตจะบอกไม่ใช่แค่ซื้อน้ำปลาข้ามประเทศ แต่เขาต้องการให้เห็นเส้นทางการเดินทางของการค้นพบน้ำปลาเจ้าเล็กที่ผลิตในญี่ปุ่นนั้นมาจากการสืบค้นจากหลายแหล่งข้อมูลที่ไม่เกี่ยวกับโฆษณาใดๆ เลย ดังนั้นคนขายของจึงต้องหาแหล่งเส้นทางเหล่านี้เพื่อพาตัวเองให้ “ไปชนลูกค้า”!
ระหว่างเส้นทางการเสพสื่อของลูกค้าเหล่านี้เป็นโอกาสในหลากหลายพันโอกาส ที่เกิดขึ้นในมือถือมูลค่านับแสนล้านบาท
“หาโอกาสใหม่ให้เจอตอบสนองลูกค้าในยุคที่ต้องการความง่าย ถามตัวเองว่าเราอยู่ตรงไหน ทำอะไร เข้าหาลูกค้าด้วยอะไร เทคโนโลยีเสิร์ซเอ็นจิ้น กูเกิล หรือบล็อครีวิว หรือจากเว็บตัวเอง รวมถึงโซเชียลมิเดีย เฟซบุ๊ค อินสตราแกรม ไล่ไดอะแกรมลูกค้าเป้าหมายให้เจอ”
โมเดลธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้นมาจากมี 3 คำที่ต้องจำคือ
ไร้รูปแบบ (Formless) ไร้พรมแดน (Borderless) และไร้ขีดจำกัด (Limitless)
ไร้รูปแบบ เมื่อทุกอย่างเกิดบนดิจิทัล เงินสด หรือบัตรเครดิตไปอยู่บนมือถือ ไม่มีรูปแบบตายตัวของการชำระเงินซื้อสินค้ารวมถึงรูปแบบธุรกิจ , ไร้พรมแดน ตัวอย่างการซื้อน้ำปลาจากญี่ปุ่น แสดงให้เห็นว่ามีคู่แข่งจากต่างประเทศจะเข้ามาแย่งตลาดจากเราโดยที่เราไม่ทันสกัดด้วยซ้ำ แต่ก็มีโอกาสและข้อดีก็ตรงเราก็ไปเอาเงินนอกประเทศได้ด้วยเช่นกันและสุดท้าย ไร้ขีดจำกัด บนโลกดิจิทัลตลาดเพิ่งเปิดหมายถึงสมรภูมิที่เพิ่งเกิดใหม่ พื้นที่ว่างอีกมหาศาล จากตลาดมูลค่าธุรกิจกำลังจะเติบโตอย่างไม่หยุดอย่างไร้ขีดจำกัด
จาก NOW26 NEWS Bangkokbiznews
ข้อมูลข่าวสารจาก
สมาคมผู้ส่งออกเอสเอ็มอิไทย Thai SMEs Exporter Association ( TSEA )
Source : Trissanu Kajohngovit