ผูกปิ่นโตข้าวอำนาจเจริญ สู่ “Love Farmer” เพื่อพัฒนาตลาดข้าวสู่ออนไลน์ระบบพี่เลี้ยง โดย Biz Club อำนาจเจริญ

 

วันนี้(13 มิ.ย.2560) ที่ห้องแสดง 1 สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย จังหวัดอุบลราชธานี นายณัฐพงษ์ สงวนจิตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ พร้อมด้วยนายทรงพันธ์ จันทร์สว่าง เกษตรจังหวัดอำนาจเจริญ ว่าที่ร้อยโทสุธรรม ลครรำ พาณิชย์จังหวัดอำนาจเจริญ นายบุญยง สาระ ปราชญ์ชาวบ้านสาขาข้าวหอมมะลิอินทรีย์จังหวัดอำนาจเจริญ ร่วมแถลงข่าว ข้าวหอมมะลิอำนาจเจริญ หอม นุ่ม อร่อย ภายใต้วิสัยทัศน์ เมืองธรรมเกษตร เขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง เส้นทางการค้าสู่สากล 

รองผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ เผยว่า จังหวัดอำนาจเจริญ มีผลผลิตข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน เนื่องจากเป็นที่ราบเขา ดินร่วน ปนทราย ทั้งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ด้านเส้นรุ้ง เส้นแวงที่เหมาะสม มีผลดีกับต้นข้าวหอมมะลิได้รับแสงพอดี จนเรียกว่าตะวันอ้อมข้าว ที่กลายเป็นอัตลักษณ์ ในด้านการผลิต มีการวางแผนโดยใช้พันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ และลดต้นทุนตั้งแต่การเตรียมเมล็ดพันธุ์ ค่าแรงงาน การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ลดการใช้สารเคมี ส่วนในด้านการตลาด มีการจัดโครงการต่างๆเพื่อตอบสนอง ผู้ซื้อผู้บริโภค เช่น โครงการผูกปิ่นโตข้าว ซึ่งทางจังหวัดมีเป้าหมายว่า ข้าวคุณภาพดีที่มีความพิเศษ หอม นุ่ม อร่อย และข้าวของชาวนาอำนาจเจริญ ต้องมีเจ้าของ อยากซื้อต้องสั่งจอง ชาวนาจะเป็นผู้กำหนดราคาผลผลิตของตนเอง ในโครงการผูกปิ่นโตข้าวอำนาจเจริญ ที่มีการเปิดตัวไปแล้วตั้งแต่ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2559 จนสามารถเพิ่มมูลค่าด้านการตลาดทางตรง และพัฒนามาตรฐานการผลิตแบบมีส่วนร่วมระหว่าง 3 กลุ่ม เจ้าบ่าว คือ ชาวนาที่ปลูกข้าวแบบอินทรีย์ เจ้าสาว คือ คนเมืองที่อยากกินข้าวปลอดภัยและสนับสนุนชาวนาไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ส่วนแม่สื่อ คือ ผู้ที่มีจิตอาสาที่นำเจ้าบ่าวมารู้จักกับเจ้าสาวและตกลงผูกปิ่นโตข้าวกัน

โดยปีนี้โครงการผูกปิ่นโตข้าวอำนาจเจริญ จะพัฒนาสู่ LOVE FARMER เพื่อพัฒนาการขยายตัวของตลาด ระบบการขนส่ง ร่วมถึงการแปรรูป โดยความร่วมมือของภาคเอกชน คือเครือข่ายธุรกิจบิสคลัปอำนาจเจริญ ภายใต้การดูแลของสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ความร่วมมือในรูปแบบเครือข่ายการตลาดระบบพี่เลี้ยง ซึ่งเป็นเครือข่ายที่เกิดจากการรวมกลุ่มของนักธุรกิจรายย่อย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการทำธุรกิจร่วมกัน เสนอแนวคิดระบบการค้าที่เป็นรูปธรรมในชื่อ บิสเทรด ตั้งแต่การปลูกจนถึงการจำหน่าย รวมทั้งอำนวยความสะดวก รักษาคู่ค้าให้เป็นคู่ค้าระยาวได้อย่างเป็นระบบ โดยนำ ไอที และการค้าออนไลน์เข้ามาสนับสนุน ภายใต้แนวคิด Digital marketing

นอกจากนี้ จังหวัดอำนาจเจริญซึ่งมีกลุ่มเกษตรกรที่ทำนาในระบบอินทรีย์แบบมีมาตรฐานอยู่แล้ว สามารถเป็นต้นแบบให้กับชาวนาอื่นๆ ประกอบกับด้านการผลิตของกระทรวงเกษตร มีนโยบายรองรับผลผลิตข้าวโครงการที่เป็นข้าวปลอดภัย จึงมีกลุ่มเป้าหมายเพียงพอ ยึดหลักภาครัฐนำร่อง ภาคเอกชนร่วมขับเคลื่อน สู่ความยั่งยืน


Source: วิรัตน์ มาหาญ ภาพนิ่ง/ข่าว
พฤติยา ทองรอง
กานต์ธิดามาส
พุทธา สายกาสี/ภาพ
NBT อุบลราชธานี

เม้นหน่อยนะ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.